วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

" การถ่ายภาพกลางคืน "

               ใช้ขาตั้งครับ ถ้าสะดวกนะ ถ้าไม่สะดวกก็ใช้ iso สูงขึ้นมาหน่อย แต่ระวังจุดnoise นะครับ ดีที่สุดก็ใช้ขาตั้งครับถ้าถ่ายกลางคืน หรือไม่ก็ใช้แฟลชช่วยครับ ขึ้นอยู่กันสถานการณ์ และรูปแบบของภาพที่จะถ่าย ลองบอกมาครับว่าถ่ายอะไรตอนกลางคืน ถ่ายไฟ ถ่ายคน ถ่ายพลุ จะได้คำตอบมากกว่านี้ครับ

               ใส่ iso สูงๆกรณีที่ไม่สะดวกใช้ขาตั้ง การใช้ iso สูงๆ ทำให้สปีดชัตเตอร์เร็วขึ้น ทำให้ภาพไม่เบลอหรือไหวครับแต่ก็ต้องแลกมาด้วย noise เยอะด้วยเช่นกัน
                ถ้าเราอยากจะได้ภาพมาก็ต้องแลกด้วยการเพิ่มไอเอสโอครับ และไม่ต้องกลัวว่าจะมีน้อยส์มากหรือน้อยดีกว่าไม่มีน้อยส์แล้วภาพเบลอทุกวันนี้มีโปรแกรมแก้น้อยส์เยอะแยะครับแต่ถ้าภาพไม่คมชัดไม่มีโปรแกรมไหนแก้ได้นะครับ


              

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เทคนิคการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์


1. ปกติแล้ว ภาพที่ถ่ายจะสวยกว่าตาเห็นนะครับ ^^ เห็นวิวสวย ๆ ดอกไม้สวย ๆ ในรูป คิดไว้เลยว่าของจริงต้องหารสองหรือสาม ถ้าคุณถ่ายแล้วสู้ของจริงไม่ได้ต้องฝึกฝนครับ สม้ยนี้ง่ายกว่าแต่ก่อนเยอะกล้องดิจิตอลถ่ายแล้วไม่ดีก็ลบทิ้งแล้วถ่ายใหม่ได้เลย


2. พยายามหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพย้อนแสง ถ้ายังฝีมือไม่แก่กล้าพอ

3. ฝนกำลังจะตก ฟ้ามืดคลึ้ม ให้ทำใจว่าถ่ายออกมาแล้วไม่สวยไว้ก่อน ถึงแม้จะปรับ iso ได้ก็ตาม

4. อย่าโลภมาก วิวบางแห่งไม่สามารถถ่ายได้ด้วยกล้องธรรมดา ต้องใช้เลนส์พิเศษ ถ้าคุณใช้กล้องคอมแพค ให้มองหาที่จะถ่ายเป็นส่วน ๆ ไป ไม่ต้องเก็บภาพทั้งหมด และต้องขยันเดิน อย่าพึ่งเลนส์ซูม โดยเฉพาะ digital zoom

5. ขยันสังเกตภาพที่เขาถ่ายออกมาดูดีครับ ว่าเขาวางองค์ประกอบภาพอย่างไร

6. ถ่ายดอกไม้ระยะใกล้ ให้เปิดหน้ากล้องกว้างที่สุดที่เป็นไปได้ (ตัวเลข F น้อย) เพื่อลดความชัดลึก วัดแสงเฉพาะกลางภาพ หรือเฉพาะจุด อย่าวัดแสงเฉลี่ย และควรมองหาฉากหลังสีเข้ม เช่นเงาของต้นไม้ต้นนั้นบนพื้น ถ้าถ่ายไกล ๆ เก็บภาพมุมกว้าง ให้เปิดหน้ากล้องแคบ วางองค์ประกอบภาพให้ดี และอย่าย้อนแสง

7. ถ้าอยากเก่งอย่าคิดพึ่งโปรแกรมจากกล้องถ่ายภาพ หรือ photoshop ให้คิดก่อนว่าเราอยากให้ภาพออกมาอย่างไร แล้วทำให้ได้ตามนั้น

8. สุดท้ายวิธีที่ผมเชื่อว่าได้ผลคือ ใช้กล้องฟิล์มถ่ายครับ เป็นการกดดันตัวเอง คุณต้องคิดอย่างดีก่อนถ่าย เพราะคุณไม่เห็นภาพจนกว่าจะเอาฟิล์มไปล้าง ขืนถ่ายไปเรื่อยก็จะเป็นโรคทรัพย์จางครับ

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เทคนิคการถ่ายภาพบุคคล



การถ่ายภาพบุคคลผมคิดว่าประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วนคือเรื่องแสง, ทัศนมิติ, เรื่ององค์ประกอบ และเรื่องอารมณ์ของแบบ


เอาเรื่องแสงก่อน

การถ่ายภาพบุคคลแสงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ตัวแบบ ถ้าเราถ่ายออกมาแล้วแบบหน้ามืดหรือหน้าขาววอก นางแบบคงไม่แฮ้ปปี้แน่ ดังนั้นเรื่องการวัดแสงที่ตัวแบบให้ถูกต้องจึงสำคัญอย่างยิ่ง

อีกเรื่องที่ต้องระวังคือถ้าถ่ายภาพบุคคลตอนเที่ยงๆที่แสงอยู่กลางหัว จะทำให้เกิดเงาใต้ตาใต้แก้มมาก ทำให้ภาพดูแข็งไม่สวย สามารถแก้โดยยิงแฟลชลบเงาหรือใช้แผ่น reflex สะท้อนเพื่อลบเงาได้

เมื่อเราสามารถคุมแสงได้แล้ว คราวนี้ก็มาถึงการเล่นแสงบ้าง

การถ่ายภาพบุคคลมีแสงมาได้หลายทาง มาทางด้านหน้าเราจะเจอบ่อยสุด และถ่ายง่ายสุดเพราะตัวแบบจะได้รับแสงเต็มที่ แต่ผมว่ารูปที่ได้จะดูแบนๆมากที่สุด

แสงจากด้านข้างเป็นแสงที่ทำให้แบบดูมีมิติและน่าสนใจมากขึ้นเยอะครับ ซึ่งเราสามารถเอาไปเล่นแสงเล่นเงาเล่น low key ได้

แสงจากด้านหลัง คล้ายๆการถ่ายย้อนแสง ก็จะให้ภาพอีกอารมณ์นึง ต้องระวังเรื่องการวัดแสงให้ดี

แสงจากด้านล่าง แสงแบบนี้เห็นได้น้อยหน่อย เพราะอารมณ์ภาพจะออกลึกลับ หลอนๆมากกว่า



การถ่ายภาพบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องถ่ายให้หน้าชัดหลังเบลอเสมอไป

คนส่วนมากนิยมถ่ายภาพบุคคลโดยใช้เลนซ์ช่วงเทเลและมีรูรับแสงกว้างๆเพื่อประโยชน์ในการทำระยะชัดตื้น ซึ่งก็เป็นการถ่ายภาพบุคคลที่ดีครับ บางคนใช้ 85 1.2 ถ่ายเต็มตัว ซึ่งสามารถทำให้ถ่ายภาพบุคคลแต่หลังละลายหายได้ดีทีเดียว เลนซ์ในช่วงเทเลยังให้ perspective ค่อนข้างตรงความจริง ถ่ายออกมาหน้าไม่บานไม่เบี้ยว

อย่างไรก็ตาม เลนซ์มุมกว้างก็สามารถถ่ายภาพบุคคลได้น่าสนใจไม่แพ้กันเลยทีเดียว เลนซ์มุมกว้างมีลักษณะพิเศษคือมี distortion เยอะ และให้ระยะชัดลึกมาก ดังนั้นการใช้เลนซ์มุมกว้างถ่ายภาพบุคคลเราจะไม่หวังเรื่องหน้าชัดหลังเบลอ แต่จะเป็นชัดลึกทั้งภาพ, ทัศนมิติที่กว้างแปลกตา นางแบบต้องเข้ามาใกล้กล้องมาก ดังนั้นเรื่องการวางองค์ประกอบภาพให้ดีจะมีบทบาทมาก และอาจต้องยอมรับเรื่องความบิดเบี้ยวเนื่องจาก distortion อีกด้วย


องค์ประกอบภาพ


จริงๆหลักการณ์ก็คล้ายๆการถ่ายภาพทั่วๆไปน่ะครับ เราสามารถยึดกฎสามส่วนมาใช้ได้ วางแบบให้อยู่กลางได้บ้างแต่อย่ามากไปเพราะจะทำให้ภาพขาดจุดสนใจ

การถ่ายภาพบุคคลถ่ายได้ 3 แบบคือเต็มตัว ครึ่งตัว และเน้นใบหน้า

การถ่ายเต็มตัวต้องระวังเรื่องฉากหลัง, องค์ประกอบถาพ และการโพสต์ท่าเป็นพิเศษเพราะแบบจะเป็นแค่ส่วนนึงของภาพและต้องเห็นการแสดงท่าทางเต็มตัว

การถ่ายภาพครึ่งตัวหรือถ่ายสามส่วน การโพสต์ท่าและองค์ประกอบก็ยังคงมีผลอยู่ และเริ่มจะมีการแสดงสีหน้าเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น

การถ่ายเน้นใบหน้า ส่วนใหญ่จะไม่เน้นองค์ประกอบภาพแล้ว แต่เรื่องสำคัญคืออารมณ์ทางสีหน้าของแบบ

อีกอย่างที่อยากเน้นคืออย่าถ่ายภาพบุคคลในระดับสายตาตลอด ลองหาโอกาสถ่ายมุมเงย (bird eye view) หรือมุมกด (ant eye view), มุมนอนราบ เพื่อสร้างความหลายหลายของมุมมองครับ

อีกจุดที่มือใหม่ค่อนข้างพลาดกันเยอะในการถ่ายภาพบุคคลคือเรื่องอวัยวะขาดครับ

พยายามอย่าถ่ายออกมาให้ข้อมือขาด ข้อเท้าขาด เพราะจะทำให้แบบดูขาดๆพิกลพิการได้ ก่อนกดชัตเตอร์ทุกครั้งลองเช็คดูว่าภาพทั้งหมดสมบูรณ์ตามที่เราตั้งใจหรือยัง


อารมณ์ของแบบ

ใครที่มาหาว่าการถ่ายภาพบุคคลง่าย มีแบบสวยถ่ายไงก็สวย ผมขอเถียงเลยครับ

จริงๆการถ่ายภาพบุคคลเป็นการฝึกให้เรารู้จักการทำงานร่วมกับคนอื่น ช่างภาพแนวอื่นอาจไม่ต้องพูดได้ แต่ช่างภาพ portrait ยังไงก็ต้องพูด ต้องสื่อสารกับแบบครับ ถ้าเราเจอนางแบบอาชีพ โพสต์ท่าเก่ง แสดงสีหน้าดีก็โชคดีไป (แต่ก็ทำให้เราไม่ได้ฝึก) แต่ถ้าเราเจอแบบมือใหม่ โพสต์ไม่ดี สีหน้าไม่ได้ ตากล้องเองนี่แหล่ะที่ต้องเป็นคนจัดการสื่อสารกับแบบให้ได้อารมณ์ของภาพที่อยากได้ ซึ่งจะบอกว่ายากมากๆ เพราะแบบแต่ละคนก็ต่างกัน



วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553




เทคนิคการถ่ายภาพ Macro


อย่างแรกขอแนะนำ “Extention TUBE” เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับถ่ายภาพใกล้โดยเฉพาะ ไม่สามารถเอาไปใช้งานอื่นแบบปกติได้ เช่น เอาไปถ่ายภาพ Landscape หรือ Portrait ไม่ได้ เพราะเมื่อใส่อุปกรณ์ชิ้นนี้เข้าไปแล้วกล้องจะโฟกัสภาพในระยะอินฟินิตี้ไม่ได้เลย TUBE นั้นเป็นอุปกรณ์ที่สามารถต่อได้หลายชิ้น บางยี่ห้อขายเป็นชุดมี 3 ชิ้น แต่บางยี่ห้อก็แยกขายเป็นชิ้นๆก็มี ลักษณะของ TUBE นั้นเป็นเพียงท่อกลวงๆ ไม่มีชิ้นเลนส์ มีขนาดสั้นยาวแตกต่างกัน โดย TUBE ที่มีขนาดยาวกว่าจะถ่ายภาพได้ใกล้กว่า ลักษณะการทำงานของ TUBE เมื่อมาใส่กับเลนส์ปกติแล้วสามารถถ่ายภาพได้ใกล้กว่าระยะใกล้สุดเดิมของเลนส์ เช่น เลนส์ Normol 50 mm. ปกติจะถ่ายได้ใกล้สุดที่ 45 cm. แต่เมื่อต่อ TUBE เข้าไปแล้วอาจจะถ่ายได้ใกล้สุดถึง 10 cm. ก็มี แล้วอุปกรณ์ TUBE สามารถนำมาต่อกันได้มากกว่า 1 ชิ้นด้วย ก็จะเพิ่มระยะใกล้สุดของเลนส์ให้มากขึ้นด้วย สำหรับคุณภาพที่ได้จาก TUBE นั้นไม่ได้ลดคุณภาพเลนส์เดิมลงไปเลย เพราะ TUBE ไม่มีชิ้นเลนส์จะมาบั่นทอนคุณภาพของเลนส์ แต่จะสูญเสียแสงไปพอสมควรยิ่งถ้าเราต่อ TUBE ได้ยาวเท่าไหร่ก็จะทำให้สูญเสียแสงมากขึ้นเท่านั้น เพราะการทำงานของ TUBE จะยืดกระบอกเลนส์ให้ยาวออกไปทำให้ชิ้นเลนส์อยู่ห่างจากฟิล์มหรือ CCD เพื่อเปลี่ยนระยะโฟกัสของเลนส์ปกติให้ถ่ายภาพได้ใกล้ขึ้น นี่ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพลดลงไปบ้าง แต่พูดกันตามจริงนะเรามองด้วยสายตาปกติไม่รู้หรอกว่ามันลดคุณภาพต่างจาก Macro Lens มากแค่ไหน….?


อุปกรณ์ชิ้นที่ 2 เป็น “Close-UP Filter” อุปกรณ์ชิ้นนี้ถูกที่สุดในบรรดาอุปกรณ์เสริมสำหรับการถ่ายภาพใกล้ ลักษณะการทำงานของ Close-UP Filter ก็คือ เมื่อนำมาใส่ที่หน้าเลนส์แล้วจะทำให้เลนส์ตัวนั้นสามารถถ่ายภาพได้ใกล้มากขึ้นกว่าเดิมและไม่สามารถโฟกัสภาพในระยะอื่นๆ ได้นอกจากระยะใกล้เพียงอย่างเดียว เหมือนๆกับการทำงานของ TUBE นั่นแหละ ซื่งการใส่ Close-UP Filter แบบนี้อาจจะทำให้คุณภาพลดลงไปบ้าง ตามแต่คุณภาพของชิ้นแก้วที่นำมาผลิต Close-UP Filter โดยเฉพาะขอบของภาพจะขาดความคมชัดลงไป ซึ่งถ้าหากเราไม่ซีเรียสเรื่องคุณภาพของขอบภาพแล้ว Close-UP Filter จะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่พวกเราไม่ต้องลงทุนมากนัก


อุปกรณ์ชิ้นต่อมาเป็นอุปกรณ์ชิ้นผสมผสานการใช้งาน ก็คือ “Tele-Converter” ที่ว่าเป็นอุปกรณ์ผสมผสานก็เพราะ Tele-Converter เป็นอุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพในระยะไกล เมื่อประกอบ Tele-Converter เข้ากับเลนส์แล้วจะช่วยทำให้เลนส์ Focal Length เดิมๆเปลี่ยนเป็นเลนส์ที่มี Focal Length ใหม่ที่มีองศาแคบกว่าได้ เช่น TC2x เมื่อนำมาใส่กับเลนส์ 200 mm. ก็จะได้เลนส์ที่มี Focal Length ถึง 400 mm. เลยทีเดียว โดยยังคงระยะโฟกัสภาพใกล้สุดของเลนส์เท่าเดิม แล้วด้วยความสามรถแบบนี้นี่เองที่เราเคลมเอามาเป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพใกล้ด้วยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เลนส์ 200 mm. มีระยะโฟกัสภาพใกล้สุดที่ 1.5 เมตร มีอัตราส่วนขยายอยู่ประมาณ 1:4 เมื่อใส่กับ TC2x แล้วจะได้ Focal Length ใหม่ที่ 400 mm. โดยยังคงระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 1.5 เมตรเช่นเดิม ซึ่งอาจจะทำให้มีอัตราส่วนขยายถึง 1:2 เลยทีเดียว เรียกว่าถ้าซื้อ Tele-Converter ใช้งานก็จะเอามาถ่ายภาพได้ทั้งนกทั้งแมลงได้เลยทีเดียว Tele-Converter เป็นอุปกรณ์คล้ายๆ TUBE แต่มีชิ้นเลนส์อยู่ในตัว เพื่อใช้เพิ่ม Focal Length ทำให้คุณภาพที่ได้ต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของชิ้นเลนส์ใน Tele-Converter ด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ Tele-Converter ของกล้องบางยี่ห้อมีราคาแพงกว่า Macro Lens บางยี่ห้อซะอีก


วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553













คุณสมบัติอย่างย่อของ Canon 550D มาดูเฉพาะจุดเด่นและจุดเปลี่ยนแปลงจาก Canon 500D
- เซนเซอร์ CMOS 18 ล้านพิกเซล ทำให้ 550D มีความละเอียดสูงเท่า 7D แต่ขนาดของเซนเซอร์ยังเท่ากับ 500D ทำให้ความหนาแน่นของพิกเซลมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อ noise ในภาพหรือไม่ต้องรอพิสูจน์จากผลการทดสอบจริง
- ตัวประมวลผล DIGIC 4 ปรับ ISO ได้ระหว่าง 100-6400 โดยปรับเพิ่มสูงสุดได้ถึง 12800
- ถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็ว 3.7fps 550D ถ่ายได้เร็วกว่าเดิมนิดหน่อยแต่ buffer น้อยลง
- บันทึกวีดีโอความละเอียดระดับ Full HD และปรับแบบแมนนวลได้ จุดนี้ 550D ทำได้เท่ากับ 500D คือสูงสุดที่ 1080p แต่จะสามารถปรับ frame rate ได้โดยที่ 1080p เลือกได้ 30, 25, 24 fps ส่วนที่ 720p ปรับได้สูงถึง 50, 60fps ซึ่งถือว่าสูงมาก
- จอ LCD ขนาด 7.7cm (3.0”) สัดส่วน 3:2 ความละเอียด 1,040k dots Canon 550D ให้ความละเอียดจอสูงมากถึงล้านพิกเซล มากกว่า 500D ที่ว่ามากแล้ว และจอขนาด 3 นิ้วเท่าเดิม แต่เปลี่ยนสัดส่วนจอเป็น 3:2 (เตี้ยลง+ยาวมากขึ้นหน่อย) ซึ่งเป็นสัดส่วนมาตรฐานของภาพที่ถ่ายจากกล้อง SLR ทำให้เวลาดูรูปที่ถ่ายจะไม่มีแถบสีดำด้านบน-ล่างของจอเหมือนเดิม
ระบบวัดแสง iFCL 63-zone Dual-layer Metering Sensor ระบบวัดแสงในแบบ evaluate ละเอียดขึ้นโดยมีมากถึง 63 โซน ระบบวัดแสงในโหมดอื่นๆเหมือนเดิม
- ปรับชดเชยแสงได้ +/-5 stops Canon เพิ่งจะปรับใน 550D ให้ชดเชยแสงได้ช่วงกว้างมากขึ้นเป็น 5 stop จากเดิมได้แค่ +/- 2 stop จริงๆก็ไม่ได้หรูเท่าไหร่ เพราะ Nikon เป็น +/- 5 มาตั้งนานแล้ว
- ตั้งค่าจำกัด ISO สูงสุดได้ ในโหมด ISO Auto ตามปกติกล้องจะปรับ ISO ให้เอง แต่สำหรับ Canon 550D เราสามารถจำกัดค่า ISO สูงสุดได้เอง กล้องจะไม่ให้เกินค่าที่เราตั้งไว้ เพื่อป้องกัน ISO สูงเกินจำเป็นทำให้ noise เยอะ และช่วยแก้ปัญหาสำหรับคนที่ตั้ง ISO แบบแมนนวลแล้วชอบลืมปรับกลับ ฟังก์ชั่นนี้มีประโยชน์มาก แต่ Nikon มีมานานแล้ว
- ช่องต่อไมค์สำหรับบันทึกวีดีโอ Canon 550D สามารถบันทึกเสียงแบบสเตอริโอได้โดยใช้แจ็ค stereo แบบ 3.5mm ทั่วไปหาง่าย
- ครอปวีดีโอที่ถ่ายได้ เป็นฟังก์ชั่น edit วีดีโอแบบพื้นฐาน มีก็ดี ไม่มีก็ไม่เดือดร้อน
- มีฟังก์ชั่นรองรับ Eye-Fi Canon 550D สามารถใช้กับ Eye-Fi card ซึ่งเป็นการ์ดหน่วยความจำแบบเป็น Wi-Fi ในตัว ทำให้โอนภาพจากกล้องไปลงคอมพิวเตอร์ได้โดยไม่ต้องถอดการ์ดออกมาเสียบหรือไม่ต้องต่อสาย USB แต่ตัวการ์ด Eye-Fi ต้องซื้อเอาเองนะครับ
- การออกแบบ ส่วนมือจับของกล้อง (grip) ถูกออกแบบใหม่ให้จับถนัดขึ้น และปุ่มบนตัวเครื่องถูกจัดวางตำแหน่งใหม่

สำหรับคนที่คิดจะรอ 550D ออกแล้วค่อยสอย จะมีคำถามว่า EOS 550D ดีมั้ย? จากสเปกจริงๆก็ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างจาก 500D แบบก้าวกระโดดมากนัก ความละเอียดที่เพิ่มขึ้นมากถึง 18 ล้านพิกเซลจะมีซักกี่คนที่จำเป็นต้องใช้ ถ้าคอมพิวเตอร์ไม่แรง การที่ภาพใหญ่ความละเอียดสูงจะทำให้การโหลดหรือการใช้โปรแกรมตกแต่งภาพทำงานช้าลงอีก ยกเว้นสำหรับคนที่ต้องใช้งานความละเอียดสูง เช่น ทำ artwork หรือพิมพ์ภาพขนาดใหญ่ ก็จะได้ใช้ประโยชน์เต็มที่กว่า สำหรับใช้งานทั่วๆไปคงแนะนำว่ามี 18 ล้านก็ดี แต่ใช้ปกติคงตั้งซัก 10 ล้านก็เหลือแล้ว นอกจากนั้นสเปกอื่นๆก็ล้วนปรับปรุงก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้นและมีประโยชน์มากขึ้นทั้งนั้น แต่ไม่ถึงกับจำเป็น ถ้าใครไม่จำเป็นต้องเล่นกล้องใหม่กิ๊ก ก็แนะนำว่าไม่ต้องรอ 550D ก็ได้ครับ ใช้ 500D ก็ไม่ต่างกันมาก นอกจากว่าตัวบอดี้จะทำออกมาได้ดีขึ้นจริงๆ ก็ค่อยน่าใช้มากขึ้น อีกอย่างก็คือ ตามปกติราคาเปิดตัวช่วงแรกจะสูงโดดกว่าราคารุ่นก่อนอยู่แล้ว ถ้าอยากให้คุ้มก็คงต้องรอหลังวางขายไปอีกซัก 2-3 เดือน ราคาจึงจะเริ่มลงมาจนนิ่ง

Fuji Finepix HS10

เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียชอง Fuji Finepix HS10














ข้อดีของ Fuji Finepix HS10
ในแง่ของฟังก์ชั่น เป็นกล้องที่ครบเครื่องที่สุดตัวหนึ่งตั้งแต่เคยเจอมา ทั้งวีดีโอและภาพนิ่ง ซูมมือ โฟกัสมือหมุน สามารถใช้แทน SLR ได้สบายๆ ยังนึกไม่ออกว่าขาดอะไรไป
คุณภาพวีดีโอจัดอยู่ในขั้นดีมาก
หน้ากล้องมีเกลียวใส่ฟิลเตอร์หน้า 58mm ได้พอดี หาง่าย มีฟิลเตอร์ให้เลือกเยอะ
ขนาดกำลังดีสำหรับกล้อง SLR-Like ไม่เล็กไป ไม่ใหญ่ไป จับถนัด น้ำหนักพอดี แข็งแรง
มีฟังก์ชั่นแปลกใหม่ให้เล่นได้อย่างสนุกสนาน ถึงจะยังมีข้อจำกัดในการใช้งานจริงอยู่บ้างแต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี

ข้อด้อยของ Fuji Finepix HS10
คุณภาพของไฟล์ภาพยังไม่ถึงขั้นประทับใจ ยังไม่ดีเท่า S200EXR โดยเฉพาะในที่แสงน้อย หรือ ISO สูงๆ
จอ LCD มุมมองไม่กว้างเท่าที่ควร แต่ก็ยังดีที่สามารถปรับก้มเงยได้
โฟกัสช้า โดยเฉพาะที่แสงน้อย ช้ากว่า S200exr ซึ่งน่าจะทำได้พอๆกัน
HS10 เหมาะสำหรับคนที่อยากใช้กล้องแบบ Full Feature ทำได้ทุกอย่างเหมือน DSLR และคุณภาพจัดอยู่ในขั้นดี โดยที่ไม่ต้องใช้ DSLR
HS10 ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการเน้น performance แบบดีเลิศ และซีเรียสกับคุณภาพของการถ่ายภาพนิ่งมากๆ เพราะคุณภาพรูปและการโฟกัส ไม่เทียบชั้น DSLR และยังสู้ S200exr ไม่ได้